อาคารผู้ประสบภัยโครงสร้างไม้ประเภทถอดและประกอบได้อย่างรวดเร็ว "เรือนไม้ไร้ตะปู" เป็นอีกโครงการบ้านสำเร็จรูปที่ชนะการประกวดการออกแบบบ้าน ของโครงการศูนย์ให้บริการและส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อสร้างบ้านสำเร็จรูป (SME) เชิงสร้างสรรค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โดยภาควิชาเทคนิคสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี 2555 ตามภาคภารกิจยุทธศาสตร์ ตามแนวนโยบายของรัฐบาล เพื่อจัดตั้งศูนย์ให้บริการและส่งเสริมธุรกิจ - อุตสาหกรรมก่อสร้างบ้านสำเร็จรูปเพื่อผู้ประสบภัยธรรมชาติ โดยโครงการดังกล่าวมีปณิธานที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประสบภัยในการพัฒนารูปแบบและมาตรฐานของที่พักอาศัยได้มีความเหมาะสม รวดเร็วและยั่งยืน 3 ประการ ประกอบด้วย 1.การให้คำปรึกษาต่อหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปในการวิเคราะห์โครงการ จัดหาแบบบ้าน และผู้ผลิตที่เหมาะสม 2.สนับสนุนข้อมูล และจัดฝึกอบรมสัมมนา เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมในการผลิตบ้านสำเร็จรูปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเตรียมความพร้อมที่จะรองรับความต้องการด้านที่อยู่อาศัยทั้งในภาวะฉุกเฉินและภาวะปกติ 3. สร้างเครือข่ายนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม เพื่อสร้างงานวิจัยในเชิงบูรณาการที่นำไปสู่การพัฒนางานออกแบบและการผลิตที่ยั่งยืน ด้วยคุณลักษณะ 3 ประการข้างต้น อาคารสำหรับผู้ประสบภัยโครงสร้างไม้ประเภทถอดและประกอบได้อย่างรวดเร็ว “เรือนไม้ไร้ตะปู” ตอบโจทย์และผ่านการคัดเลือกแบบบ้านสำเร็จรูปเพื่อผู้ประสบภัยธรรมชาติ “เรือนไม้ไร้ตะปู” หรือ อาคารสำหรับผู้ประสบภัยโครงสร้างไม้ประเภทถอดและประกอบได้อย่างรวดเร็วถูกพัฒนาขึ้นมาจากเครื่องกลไม้โบราณที่เรียกว่า ‘เถรอดเพล’ ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน โดยที่เลือกมานำเสนอเป็นแบบ ‘เถรอดเพล’ ที่พัฒนาขึ้นโดยหลวงตาโจ้ยจากวัดไทร อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, 2529) กลไม้เดิมของหลวงตาโจ้ย ประกอบด้วยชิ้นไม้ 6 ชิ้นต่อรอยต่อซึ่งไม่มีชิ้นไหนที่เหมือนกันเลย เพราะต้องการให้ซับซ้อนและยากต่อการถอดออก สมวัตถุประสงค์ที่ทำให้แม้กระทั่งพระยังอดฉันเพลได้เมื่อมาเล่นกลไม้นี้ แต่ที่นำมาใช้และพัฒนาต่อให้เป็นรอยต่อของโครงสร้างหลักอาคารนั้นเป็นกลไม้ที่เรียบง่ายขึ้นองค์ประกอบยังคงไว้ด้วยไม้ 6 ชิ้นต่อหนึ่งรอยต่อ แต่มีคู่ที่มีลักษณะเหมือนกัน 2 คู่กับอีก 2 ชิ้นที่มีลักษณะต่างไปทำหน้าที่เป็นฐานและตัวยึดสุดท้ายกลไม้ที่เรียบง่ายนี้ จึงน่าจะเหมาะแก่การใช้เป็นรอยต่อโครงสร้างอาคารขนาดไม่ใหญ่มากนัก ในขั้นแรกได้นำกลไม้มาพัฒนาและทดลองใช้เป็นรอยต่อโครงสร้าง “ศาลาไม้ไร้ตะปู” ซึ่งเป็นศาลาอเนกประสงค์ชนิดถอดประกอบได้ง่าย และสามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยโดยได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัย และพัฒนามหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยศักยภาพที่เกิดขึ้นจึงได้นำกลไม้รอยต่อโครงสร้างมาพัฒนาต่อให้เป็นรอยต่อโครงสร้างหลักของบ้านสำหรับผู้ประสบภัย |
หลักการในการออกแบบวัตถุประสงค์และการใช้งานสำหรับ “เรือนไม้ไร้ตะปู” หรืออาคารสำหรับผู้ประสบภัยโครงสร้างไม้ประเภทถอดและประกอบได้อย่างรวดเร็วมีรายละเอียดดังนี้
1. คงความเป็นโครงสร้างไม้ที่สร้างจากไม้ที่มีขนาดหน้าตัดเล็ก (3”X3”) เพื่อให้สะดวกในการประกอบในพื้นที่ประสบภัยที่เข้าถึงได้ยากอาจขาดเครื่องมือและเครื่องจักรในการก่อสร้าง นอกจากนี้ไม้ยังเป็นวัสดุที่สร้างทดแทนได้ ส่วนวัสดุอื่นเลือกใช้เท่าที่จำเป็น
2. การประกอบโครงสร้างควรทำได้ง่ายไม่ยากและซับซ้อน เพื่อให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นช่างเมื่ออ่านคู่มือในการประกอบก็สามารถทำเองได้ คล้ายการประกอบเครื่องเรือนสำเร็จรูปที่มีขายอยู่ในท้องตลาด
3. ออกแบบจากระบบห้องที่มีขนาดหน่วยประมาณ 1.80 x 2.40 ม. ซึ่งเป็นขนาดที่ไม่เล็กเกินไปและไม่ใหญ่มากเหมาะแก่การพักชั่วคราวก่อนที่จะย้ายไปอยู่อาคารที่ถาวรภายหลัง (เอื้อให้เกิดการถอดอาคารนำไปใช้ใหม่ได้) สัดส่วนนี้ยังแบ่งได้อีกที่ระยะ 0.60 ม. ซึ่งเป็นระยะทอนส่วนทั่วไปของวัสดุแผ่นในท้องตลาด
4. บ้านขนาดเล็กสุดประกอบไปด้วย 3 หน่วย หรือ 3 ห้อง ใช้เป็นห้องนอน 2 ห้อง และห้องน้ำ-ส้วมอีกหนึ่งห้อง (แบบที่เลือกนำมาแสดงนี้มีทั้งหมด 5 ห้อง สองห้องที่เพิ่มมาเป็นพื้นที่ชานไว้พักผ่อน หรืออาจกั้นเป็นห้องนอนอีกห้องก็ได้)
5. เรือนมีชายคาโดยรอบไว้กันแดดและฝนและด้านหน้าเรือนมีลานหน้าบ้านมีกันสาดคลุมเอาไว้เป็นที่พักผ่อนภายนอกอาคาร
ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่น และคงความเป็นโครงสร้างไม้มีขนาดหน้าตัดเล็ก (3”X3”) เพื่อให้สะดวกในการประกอบในพื้นที่ประสบภัยที่เข้าถึงได้ยาก “เรือนไม้ไร้ตะปู” จึงเป็นอีกแบบบ้านสำเร็จรูปเพื่อผู้ประสบภัยธรรมชาติคุณภาพที่ผ่านการคัดเลือกครั้งนี้ ล่าสุดได้นำไปโชว์ในงานสถาปนิก’57ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ชมงานอย่างมาก -
ทีมา : at: http://www.buildernews.in.th/page.php?a=10&n=268&cno=8480#sthash.x31rUWxT.dpuf
0 comments:
Post a Comment