ในการตกแต่งผนังอาคาร ผลิตภัณฑ์ที่ถูกเลือกใช้งานเพื่อตอบสนองการออกแบบที่สวยงามและง่ายต่อการติด ตั้ง มักจะเป็นกระเบื้องเซรามิก เราต้องยอมรับว่าในอาคารแต่ละหลังตั้งแต่บ้านพักอาศัยหลังเล็ก ไปจนอาคารชุดพักอาศัยระดับซุปเปอร์ลักซูรี่ต่างก็ต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ กระเบื้องเพื่อปูพื้นหรือกรุผนังในห้องใดห้องหนึ่งเสมอ โดยเฉพาะห้องน้ำ ซึ่งในปัจจุบันนี้ถือได้ว่าตลาดของผู้บริโภคกลุ่มนี้กว้างมากมีทั้งในระดับ ล่างไปจนระดับบนที่สูงสุดๆ ผู้ผลิตสินค้ากระเบื้องเซรามิกต่างก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และมีการพัฒนาลวดลายสีสันใหม่ๆ ตามความต้องการของตลาด ซึ่งเราอาจมองว่ากระเบื้องเซรามิกเป็นสินค้าแฟชั่นอย่างหนึ่งก็ได้
ด้วยลวดลายใหม่ๆ พร้อมด้วยสีสันที่ทางผู้ผลิตกระเบื้องต่างพัฒนาออกมาอย่างหลากหลาย อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนในการเลือกใช้งานได้ อีกทั้งคุณลักษณะพิเศษต่างๆ ของกระเบื้องที่มีคุณสมบัติจำเพาะสำหรับการใช้งานในพื้นที่ที่มีจุดประสงค์ ที่แตกต่างกัน ทำให้เราเลือกใช้งานไม่ถูกได้เช่นกัน อย่างน้อยเนื้อหาในบทความนี้จะช่วยทำให้ผู้ที่ต้องการเลือกใช้กระเบื้อง เซรามิกมีความเข้าใจในประเภทของกระเบื้อง อีกทั้งคุณสมบัติที่เราควรจะคำนึงถึงสำหรับการใช้งานในพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย เมื่อเราเข้าใจในชนิดของกระเบื้องเซรามิกที่มีอยู่ในท้องตลาด และทราบว่าถึงคุณสมบัติในการใช้งาน เราก็สามารถเลือกใช้กระเบื้องเซรามิกได้ตรงตามความต้องการของเราอย่างสูงสุด
อย่างแรกเราควรทำความรู้จักประเภทของกระเบื้องเซรามิกก่อน ว่ามีลักษณะการใช้งานอย่างไรบ้าง นั่นคือ 1. กระเบื้องกรุผนัง 2. กระเบื้องปูพื้น 3. กระเบื้องสำหรับตกแต่ง หรือหากแบ่งตามประเภทของเนื้อกระเบื้อง ตามกระบวนการผลิตและคุณภาพการรับรองตามมาตราฐานสากล ซึ่งเป็นการจำแนกประเภทตามแนวทางการผลิต เราสามารถแบ่งประเภทของกระเบื้องได้ดังนี้
1. กระเบื้องกรุผนัง
กระเบื้องที่ใช้สำหรับกรุผนังของบ้านหรืออาคาร ในอดีตเรานิยมใช้งานในห้องน้ำเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาสีสันและลวดลายให้มีความสวยงาม จนสามารถนำมามาใช้งานได้ในทุกพื้นที่ของบ้านหรืออาคารได้เลย ซึ่งข้อดีของการใช้กระเบื้องกรุผนังทดแทนการทาสีหรือการใช้วอลล์เปเปอร์ก็ คือ กระเบื้องจะมีความทนทาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทำความสะอาดง่ายกว่า และสามารถออกแบบลูกเล่นต่างๆ ในการตกแต่งได้ตามไอเดียของเจ้าของบ้านเองได้
เนื้อดินของกระเบื้องกรุผนังจะเป็นชนิด Earthen ware ที่มีเปอร์เซ็นต์ในการดูดซึมน้ำสูง (15-22%) และมีความแข็งแรงไม่สูงมากนัก ส่วนสีเคลือบผิวส่วนใหญ่มักจะเป็นผิวมัน ดังนั้นจึงไม่ควรนำเอากระเบื้องชนิดนี้ไปใช้งานที่ต้องรับน้ำหนักมากหรือ ต้องสัมผัสกับน้ำอยู่ตลอดเวลา หรือใช้ในพื้นที่ที่มีการขูดขีดสูง เช่น พื้นที่สาธารณะหรือปูพื้น เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผิวของกระเบื้อง และหมดความสวยงามได้ในที่สุด นอกจากนี้หากนำกระเบื้องกรุผนังซึ่งมีผิวมันมากไปใช้ปูพื้นก็อาจทำให้เกิด การลื่นไถลและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้สอยอาคารได้
คุณสมบัติของเนื้อกระเบื้องกรุผนังจะต้องมีน้ำหนักเบา มีความพรุนตัวสูง มีความแข็งแรงปานกลาง โดยขนาดของกระเบื้องแต่ละแผ่นต้องได้มาตรฐาน เพื่อที่เวลาปูกระเบื้องแล้วจะทำให้ได้แนวของกระเบื้องที่สวยงาม ไม่ควรมีการหดตัวเมื่อติดตั้งไปแล้ว หรือเกิดการแตกร้าวของผิวเคลือบ (Delay crazing) เมื่อใช้งานไปในระยะเวลาหนึ่ง ที่อาจเกิดมาจากการขยายตัวเพราะความชื้น และสีเคลือบต้องมีความทนทานต่อสารเคมีได้ เนื่องจากในการใช้สอยที่ต้องทำความสะอาดพื้นกระเบื้องด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำ ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดหรือเบส
2. กระเบื้องปูพื้น
กระเบื้องชนิดนี้ไว้ใช้สำหรับปูพื้นเพื่อให้เกิดความสวยงาม ซึ่งมีความคงทนและทำความสะอาดได้ง่าย สามารถใช้ทดแทนวัสดุที่มีราคาสูง เช่น หินแกรนิต หินอ่อน หรือพื้นไม้ เป็นต้น
เนื้อกระเบื้องเป็นเนื้อ Stone ware ที่มีเปอร์เซ็นต์การดูดซึมน้ำต่ำถึงปานกลาง (~3-6%) มีความแข็งแรงปานกลาง ลักษณะผิวเคลือบมีทั้งแบบผิวมันและผิวด้าน นอกจากนี้ยังมีลวดลายแพทเทิร์นต่างๆ ให้เลือกมากมายขึ้นอยู่กับการใช้งานของพื้นที่ที่จะปูกระเบื้อง
คุณสมบัติที่สำคัญของกระเบื้องปูพื้น แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เราเห็นหรือสัมผัสได้ เช่น สีสัน ลวดลาย ลักษณะของผิวเคลือบ ขนาด คุณภาพของผิวหน้า ความโค้ง-แอ่นของกระเบื้อง และส่วนที่เป็นคุณสมบัติทางกายภาพ ที่ผู้ใช้งานไม่สามารถวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่ทางผู้ผลิตได้มีการควบคุมคุณภาพตามมาตราฐานที่กำหนดเอาไว้ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาภายหลังการใช้งาน โดยคุณสมบัตินั้น ได้แก่
ความแข็งแรงของเนื้อกระเบื้อง ที่ต้องได้ตามมาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้กระเบื้องแตกหรือร้าว เมื่อใช้งานในพื้นที่ที่ต้องรับแรงกดมาก
การดูดซึมน้ำ จะต้องไม่สูงเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้กระเบื้องเกิดการดูดซึมน้ำ ซึ่งจะเกิดเป็นความชื้นสะสมอยู่ในเนื้อกระเบื้องอาจทำให้สีของกระเบื้อง เปลี่ยนไปได้ หรืออาจพบปัญหาน้ำเมือกคล้ายเจลเกาะเป็นคราบ ทำให้ความสะอาดได้ยาก ส่งผลให้ผิวกระเบื้องลดความสวยงามลง และหากมีความชื้นสูงประกอบกับการดูดซึมน้ำของกระเบื้องมีมาก สามารถทำให้กระเบื้องร่อนออกจากพื้นซีเมนต์ได้
ความทนทานต่อการขูดขีด โดยขึ้นอยู่กับคุณภาพของผิวเคลือบ ผิวมันจะมีความทนทานต่อการขูดขีดต่ำ ทำให้เกิดเป็นรอยได้ง่ายกว่าผิวด้าน ดังนั้นในการใช้งานกระเบื้องผิวมันควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีขูดขีดเกิดขึ้น สูง
ความต้านทานต่อสารเคมี ในการทำความสะอาดพื้นกระเบื้องเซรามิกนั้น ส่วนใหญ่เรามักใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือเบส ที่มีฤทธิ์กัดคราบสกปรกได้รุนแรง กระเบื้องปูพื้นที่ดีควรผ่านการทดสอบสารเคมีและรับประกันคุณภาพสินค้าด้วย
ความต้านทานต่อการขัดสี การใช้งานกระเบื้องปูพื้นเราไม่อาจหลีกเลี่ยงการเสียดสีหรือขัดสีระหว่าง ผิวกระเบื้องกับฝุ่นละออง ทราย กรวด พวกนี้ได้ การทดสอบความทนทานต่อการขัดสีของพื้นผิวตามมาตรฐานของ PEI (Porcelain Enamel Institution) กำหนด โดยการนำเอาผงขัดมาเข้าเครื่องขัดผิวหน้ากระเบื้อง กำหนดให้จำนวนรอบในการขัดที่แตกต่างกัน และสังเกตผลที่เกิดขึ้นกับผิวเคลือบภายหลังการขัดผิวหน้าของกระเบื้อง ซึ่งจะทำให้เราสามารถจัดระดับชั้นของกระเบื้องตามค่าของการแบ่งระดับชั้น (ค่า PEI) ได้ดังนี้
ขั้นที่ 0 ทนทานต่อรอยขูดขีด ได้ 100 รอบของการขัดสี กระเบื้องเคลือบสีในชั้นนี้ไม่แนะนำให้ใช้สำหรับปูพื้น
ขั้นที่ 1 ทนทานต่อรอยขูดขีด ได้ 150 รอบของการขัดสี แนะนำให้ใช้ในพื้นที่ที่มีการสัญจรโดยสวมรองเท้าพื้นนิ่มหรือเท้าเปล่า โดยไม่มีฝุ่นละอองเช่นในห้องนอน หรือในห้องน้ำ
ขั้นที่ 2 ทนทานต่อรอยขูดขีด ได้ 600 รอบของการขัดสี แนะนำให้ใช้ในพื้นที่ซึ่งมีการสัญจรโดยสวมรองเท้าพื้นนิ่มหรือรองเท้าปกติ และมีฝุ่นผงบ้างในจำนวนน้อยเช่นห้องต่างๆ ภายในบ้าน
ขั้นที่ 3 ทนทานต่อรอยขูดขีด ได้ 750 หรือ 1,500 รอบของการขัดสี แนะนำให้ใช้ในพื้นที่ซึ่งมีการสัญจรบ่อยครั้งด้วยรองเท้าปกติและมีฝุ่นผงไม่ มากนัก เช่น ห้องครัวภายในบ้าน ระเบียงทางเดิน ลานบ้าน
ขั้นที่ 4 ทนทานต่อรอยขูดขีด ได้ 2,100 หรือ 6,000 หรือ 12,000 รอบของการขัดสี แนะนำให้ใช้ในพื้นที่ที่มีการสัญจรเป็นปกติ ซึ่งมีฝุ่นละอองมาก ทำให้มีสภาพที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าขั้นที่ 3 เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ห้องแสดงนิทรรศการ
ขั้นที่ 5 ทนทานต่อรอยขูดขีด ได้มากกว่า 12,000 รอบและผ่าน ISO10545-14 สำหรับความต้านทานต่อคราบสี แนะนำให้ใช้ในพื้นที่ที่มีการสัญจรพลุกพล่านเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน โดยมีปริมาณฝุ่นผงขัดสีเป็นจำนวนมาก และมีสภาพการใช้งานที่รุนแรงที่สุด เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ ทางเดินสาธารณะ สถานีรถไฟ(ฟ้า) สถานีรถประจำทาง
ในครั้งต่อไปผู้ใช้งานอย่างลืมถามผู้ขายถึงคุณสมบัติการใช้งานที่เหมาะสมตาม ค่า PEI เพื่อเลือกกระเบื้องให้เหมาะกับพื้นที่การใช้งาน หลีกเลี่ยงปัญหาการสูญเสียพื้นผิวที่สวยงามในระยะเวลาอันสั้น
3. กระเบื้องโมเสค (Mosaic)
กระเบื้องโมเสคสามารถนำไปใช้ในการปูพื้นก็ได้ หรือกรุผนังก็ได้ ทั้งภายในและภายนอกอาคาร โดยเราเรียกกระเบื้องโมเสคที่ใช้ภายนอกอาคารว่า Facing Tile ส่วนกระเบื้องโมเสคสำหรับปูพื้นควรเป็นชนิดที่เคลือบผิวไม่มันมากนัก เพื่อจะได้ป้องกันการลื่นไถล
โมเสคเป็นกระเบื้องที่มีเปอร์เซ็นต์การดูดซึมน้ำต่ำ และมีความแข็งแรงสูง เนื้อกระเบื้องจัดอยู่ในประเภทพวก Porcelain โดยทั่วไปเป็นกระเบื้องขนาดเล็กที่มีขนาดต่ำกว่า 4 นิ้ว ผู้ผลิตจะนำชิ้นโมเสคเหล่านี้ไปติดบนแผ่นไนลอน (Nylon Sheet) เวลาติดตั้งก็ปูไปทั้งแผ่น จำนวนชิ้นของโมเสคในแต่ละแผ่นก็ขึ้นกับขนาดของโมเสค แต่สำหรับ Facing Tile ตัวจบสุดท้าย (Footing) มักจะถูกออกแบบให้มีความลึกมากกว่าโมเสคปกติเพื่อความสามารถในการยึดติดที่ ดี การติดตั้ง Facing Tile ควรจะติดไปบนแผ่นคอนกรีตสำเร็จก่อน แล้วจึงสามารถยกขึ้นไปติดตั้งพร้อมกับการก่อสร้างอาคาร การใช้กระเบื้องโมเสคกับผนังภายนอกอาคาร จะให้ความคงทนได้ดีกว่าสีทาอาคารและยังสามารถทำความสะอาดได้ง่ายกว่า ไม่สกปรกหรือขึ้นราได้ง่าย
คุณสมับติที่ดีของกระเบื้องโมเสค นั่นคือ สามารถทนทานต่อสารเคมีได้ดีกว่ากระเบื้องชนิดอื่น เพราะผ่านการเผาด้วยอุณหภูมิที่สูงกว่ากระเบื้องกรุผนังและกระเบื้องปูพื้น ทั่วไป แต่ทำให้สีของตัวกระเบื้องโมเสคมีความเข้ม-อ่อนแตกต่างกันได้ เนื่องจากสภาพความแตกต่างของอุณหภูมิในแต่ละตำแหน่งภายในเตาที่ไม่เท่ากัน ผู้ผลิตจึงนำโมเสคมา Mix pattern จัดเรียงเฉดสีให้ดูกลมกลืนกันใน 1แผ่น เพื่อให้เกิดเป็นการไล่เฉดสีเข้ม-อ่อนต่อกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของกระเบื้องโมเสคก็ว่าได้ หากเลือกใช้กระเบื้องประเภทนี้เราต้องชื่นชอบในความต่างของเฉดสีที่มีบน กระเบื้องชนิดนี้ด้วย ส่วนข้อจำกัดของโมเสคอยู่ที่การทำความสะอาด เพราะกระเบื้องชนิดนี้มีขนาดเล็กทำให้มีรอยต่อระหว่างแผ่น (joint) มาก เวลาทำการปูกระเบื้องต้องใช้ปูนซิเมนต์ขาวยาแนวหลายแถว จึงมีโอกาสทำให้เกิดคราบสกปรกฝังแน่นได้ง่าย หากดูแลรักษาไม่ดีพอ
4. กระเบื้องแกรนิต (Granite)
กระเบื้องชนิดนี้เป็นกระเบื้องที่มีการผลิตเลียนแบบหินธรรมชาติ ที่มีการเรียกชื่อไปได้หลายแบบ อาทิเช่น Homogeneous tiles, Granite tiles, Granito tiles, Porcelain tiles เป็นการพยายามผลิตกระเบื้องให้มีลักษณะและสีสันให้ใกล้เคียงหินแกรนิต ธรรมชาติมากที่สุด โดยการนำเอาสีเซรามิกเข้าไปผสมกับเนื้อดินเพื่อให้เกิดสีจากภายในเนื้อ กระเบื้องให้แลดูเป็นธรรมชาติ ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่พัฒนาอย่างมาก ทำให้สามารถผลิตกระเบื้องที่เลียนแบบหินธรรมชาติได้แทบทุกชนิด และมีลวดลายตกแต่งที่มีให้เลือกหลากหลาย
กระเบื้องแกรนิตมี เนื้อดินเป็นชนิดแบบ Porcelain ที่มีการนำสีเซรามิกใส่ผสมลงไปกับเนื้อดินทำให้กระเบื้องทั้งแผ่นมีสีเป็น เนื้อเดียวกัน เมื่อใช้กระเบื้องไปจนเกิดการขัดสีหรือการขูดขีดบนผิวหน้าแล้ว เนื้อกระเบื้องด้านล่างก็จะมีสีเช่นเดียวกันกับผิวด้านบน แต่สำหรับกระเบื้องแกรนิตที่ขัดมันแล้วอาจจะพบปัญหาผิวสกปรก หมอง และด้านขึ้นเมื่อผ่านการใช้งานไปนานๆ
คุณสมบัติที่สำคัญของกระเบื้องแกรนิต คือ มีการดูดซึมน้ำต่ำมาก กระเบื้องชนิดนี้จึงสามารถใช้ได้ในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านในอาคาร ด้านนอกอาคาร ที่จอดรถ สถานที่สาธารณะที่มีผู้คนพลุกผล่าน นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติความแข็งแรงสูง สามารถนำไปใช้เป็นทางเลือกในการปูพื้นที่จอดรถ พื้นทางเดิน ทางเข้าบ้าน พื้นที่ที่ต้องรับแรงกดมากกว่าปกติ
แผ่นกระเบื้องแกรนิตที่ได้มาตรฐานต้องมีขนาดของกระเบื้องในขนาดใกล้เคียงกัน มาก เวลาปูกระเบื้องได้ชิดชนกันได้สนิทเกิดความสวยงามและดูเหมือนกันปูหิน ธรรมชาติจริงๆ แต่กระเบื้องแกรนิตมีข้อได้เปรียบมากกว่าหินจริงตามธรรมชาติ อย่างหินอ่อนหรือหินแกรนิต เพราะจะมีความแข็งแรงมากกว่า ทำให้สามารถรับแรงกดได้สูงกว่า อีกทั้งมีลวดลายและสีสัน ให้เลือกมากมาย ซึ่งสามารถควบคุมเฉดสีให้กลมกลืนกันได้ดี มีความหนาน้อยกว่าหินธรรมชาติ ทำให้มีน้ำหนักต่อแผ่นเบากว่ามาก และที่สำคัญมีราคาถูกกว่าหินธรรมชาติ โดยเฉพาะสีพิเศษอย่างสีดำ หรือสีแดงเลือดนก ที่จำเป็นต้องสั่งซื้อมาจากต่างประเทศเพราะในประเทศไทยไม่มีหินธรรมชาติสี เหล่านั้น สามารถปูและติดตั้งได้ง่ายกว่าหินธรรมชาติ
5. กระเบื้องเคลือบเนื้อแกรนิต
กระเบื้องชนิดนี้เป็นที่นิยมกันในแถบประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น อย่างในยุโรปและอเมริกา ที่มีอุณหภูมิในช่วงฤดูหนาวจะต่ำกว่าจุดเยือกแข็งจนทำให้น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง ซึ่งถ้ากระเบื้องที่มีเปอร์เซ็นต์การดูดซึมน้ำสูงก็จะพบปัญหาน้ำที่สะสมอยู่ ในรูพรุนจะกลายเป็นน้ำแข็งและอาจทำให้กระเบื้องแตกได้เมื่อเกิดการการขยาย ตัวของน้ำแข็ง เราเรียกคุณสมบัติที่สามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่อุณหภูมิ ต่ำมากนี้ว่า Frost resistance
คุณสมบัติของกระเบื้องชนิดนี้เป็นเนื้อ Porcelain ที่ใกล้เคียงกับเนื้อของกระเบื้องแกรนิต ทั้งในเรื่องการดูดซึมน้ำ และความแข็งแรง แต่ที่ผิวหน้าจะมีการเคลือบสีและตกแต่งลวดลายให้เกิดความสวยงาม รวมทั้งช่วยเพิ่มคุณสมบัติด้านการขัดสี ขูดขีด ให้มีความทนทานเพิ่มขึ้นด้วย สารเคลือบที่ใช้กับกระเบื้องเคลือบเนื้อแกรนิต มักจะเป็นการเคลือบเพื่อให้มีความทนทานทั้งกับสารเคมีและการขัดสี จึงสามารถใช้กระเบื้องชนิดนี้ได้ในทุกพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกอาคาร และสถานที่สาธารณะที่มีผู้คนสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก
6. กระเบื้อง Third Firing
เป็นกระเบื้องตกแต่งที่ผ่านการเผาหลายครั้ง ด้วยหลายอุณหภูมิเพื่อให้เกิดความสวยงาม ซึ่งได้จากการนำกระเบื้องปูพื้น หรือกระเบื้องกรุผนัง หรือชนิดอื่นที่ผ่านการเผาแล้วมาทำการตกแต่งลวดลายเพิ่มเติม และนำกลับไปเผาที่อุณหภูมิที่ต่ำกว่าอุณหภูมิที่ใช้ผลิตเนื้อกระเบื้องดัง กล่าว อุณหภูมิที่ใช้เผานั้นขึ้นอยู่กับสีที่นำมาตกแต่ง อาจมีการเผามากกว่าหนึ่งครั้งก็ได้ กระเบื้องชนิดนี้จะใช้สำหรับตกแต่งประกอบไปกับกระเบื้องชนิดอื่นๆ ที่นำมาเป็นพื้นเพื่อให้เกิดความสวยงามขึ้น ซึ่งลวดลายนั้นเป็นได้ทั้งลายดอกไม้ ลายกราฟิก รูปการ์ตูน ภาพธรรมชาติ หรือแม้แต่ภาพอิมเพรสชั่นนิสก็ยังสามารถนำมาใช้กับกระเบื้องได้ สามารถนำไปใช้งานเป็นกระเบื้องตัดขอบ(Border) หรือเป็นกระเบื้องที่มีลวดลายแซมอยู่ทั่วไปของพื้นที่ (Spot tiles) แต่ควรระวัง สีที่นำมาตกแต่งกระเบื้องชนิดนี้มีความทนทานต่อการขูดขีด และสารเคมีค่อนข้างต่ำถึงแม้ว่าจะผ่านการเผามาแล้วก็ตาม อาจซีดจางเมื่อผ่านการใช้งานไปนานๆ ได้
7. กระเบื้องที่ได้จากกระบวนการรีด (Extrude tile or Spilt tiles)
ความแตกต่างของกระเบื้องชนิดนี้กับกระเบื้องขนิดอื่นอยู่ที่กระบวนการผลิต ที่แตกต่างออกไป โดยกระเบื้องชนิดนี้จะขึ้นรูปด้วยการนำดินที่มีความชื้นสูงมาเข้าเครื่องรีด ผ่านหัวแบบ (die) ให้ได้รูปร่างตามแบบ แล้วจึงตัดตามขนาดที่ต้องการ คุณสมบัติของกระเบื้องเมื่อผ่านการเผาจะใกล้เคียงกับกระเบื้องปูพื้น ทั้งในเรื่องของเปอร์เซ็นต์การดูดซึมน้ำ ความแข็งแรง หรือทนทานต่อสารเคมี แต่ข้อจำกัดของกระเบื้องชนิดนี้ คือ ขาดความหลากหลายของขนาดกระเบื้องโดยเฉพาะกระเบื้องที่มีขนาดใหญ่ ปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาลวดลายให้เกิดความหลากหลายขึ้นจากเดิม ซึ่งตามท้องตลาดเราจะเริ่มเห็น spilt tiles ที่มีลวดลายสวยงามเพิ่มขึ้น เนื้อกระเบื้องเป็นแบบ Stone ware หรือ Porcelain จึงสามารถนำไปใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร
8. กระเบื้องดินเผา (Terra cotta) ซึ่งมักเป็นเนื้อ
กระเบื้องเนื้อ Earthen ware ที่ผลิตจากดินแดงหรือดินที่มีเปอร์เซ็นต์เหล็กออกไซด์สูง ในกระบวนการผลิตจะมีทั้งการขึ้นรูปแบบ Pressing, Extruding และการขึ้นรูปด้วยมือ Handmade มีเปอร์เซ็นต์การดูดซึมน้ำสูง ความแข็งแรงไม่มากนัก เหมาะสำหรับใช้ในตกแต่งผนังบ้านให้สวยงามมากกว่าคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่ แท้จริง แต่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับกระเบื้องชนิดอื่น ปัญหาที่พบมากในการใช้งานกระเบื้องประเภทนี้ คือ เรื่องความสกปรกบนผิวกระเบื้อง ที่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายแต่กำจัดออกไปได้ยาก รวมทั้งมักเกิดตะไคร่น้ำได้ง่าย ซึ่งก่อให้เกิดการลื่นไถลเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน จึงไม่เหมาะที่จะใช้งานในพื้นที่ภายนอกอาคารที่ถูกน้ำ หรือในพื้นที่ที่เปียกชื้นเสมอๆ และไม่ควรใช้กับพื้นที่ที่ต้องรับแรงมาก
0 comments:
Post a Comment