คำว่า “การตรวจสอบ” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปีพุทธศักราช 2542 มีความหมายโดยแบ่งคำเป็น “ตรวจ” หมายความว่า พิจารณาดูความเรียบร้อย เช่น ตรวจพล ตรวจราชการ พิจารณาดูว่าถูกหรือผิด ดีหรือร้าย เป็นต้น เช่น ตรวจบัญชี ตรวจแบบฝึกหัด ตรวจดวงชะตา พิจารณาหาสมมุติฐาน เช่น ตรวจโรค สำรวจ ตรวจพื้นที่ และ “สอบ” หมายความว่า ตรวจ ทดลอง เปรียบเทียบ เพื่อหาข้อเท็จจริง หรือวัดให้รู้ว่ามีความรู้หรือความสามารถแค่ไหน เช่น สอบตาชั่งให้ได้มาตรฐาน สอบราคาสินค้า สอบปากคำผู้ต้องหา สอบพิมพ์ดีด
ความหมายของคำว่า “การตรวจสอบ” ในงานทางวิศวกรรมนั้นถูกกำหนดโดยกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550 อาศัยอำนาจตามความในบทนิยามคำว่า “วิชาชีพวิศวกรรม” และ “วิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” ในมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 ข้อที่ 3 งานในวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละสาขา วงเล็บห้าให้งานพิจารณาตรวจสอบ หมายถึง การค้นคว้า การวิเคราะห์ การทดสอบ การหาข้อมูลและสถิติต่างๆ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ หรือประกอบการตรวจสอบวินิจฉัยงานหรือในการสอบทาน
ตัวอย่างของงานพิจารณาตรวจสอบความเสียหายและให้คำแนะนำแก้ไขอาคารทาวน์เฮ้าส์ 3 ชั้น ซึ่งเกิดการทรุดตัวและแตกร้าว โดยวิศวกรโยธามีใบอนุญาตระดับวุฒิวิศวกร ได้ทำการสำรวจอาคารทาวเฮ้าส์ อาคารข้างเคียงและสภาพโดยรอบ พิจารณาตรวจสอบสภาพชั้นดินและข้อมูลการออกแบบเดิมที่ใช้ค่าส่วนความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐานออกแบบโดยทำการพิจารณานำข้อมูลข้างต้น สรุปความเสียหายของอาคารว่าเกิดความเสียหายจากเหตุใด วิศวกรผู้รับจ้างต้องดำเนินการในงานที่ได้รับว่าจ้างมา โดยทำอย่างถูกต้องตามหลักปฏิบัติและวิชาการ ของจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรม
พระราชบัญญัติวิศวกร 2542 มาตรา 4 “วิชาชีพวิศวกรรม” หมายความว่า วิชาชีพวิศวกรรมในสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ และสาขาวิศวกรรมอื่นๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง “วิชาชีพวิศวกรรมควบคุม”
หมายความว่า วิชาชีพวิศวกรรมที่กำหนดในกฎกระทรวง “ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจากสภาวิศวกร กฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550 กำหนดให้งานที่ต้องควบคุมของแต่ละสาขาวิชาชีพ เช่น ตามข้อที่ 5 ประเภทและขนาดของวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธามี 21 ประเภท เป็นต้น
ส่วนการตรวจสอบในงานวิศวกรรมในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่3) พ.ศ. 2543 จะเป็นการตรวจสอบที่ควบคุมอาคารเท่านั้น โดยกำหนดให้ผู้ตรวจสอบผ่านการอบรม ผ่านการสอบ และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคารให้อำนาจขอบข่ายงานในการตรวจตราเบื้องต้น ในการควบคุมอาคารตามกฎหมายกำหนดไว้ โดย “ผู้ตรวจสอบ” ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือผู้ซึ่งได้รับใบ อนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณีซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ งานตรวจสอบอาคาร จึงเป็นงานตรวจสอบอาคารตามที่ได้ระบุไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการตรวจสอบอาคาร ซึ่งมีชื่อเต็มว่า “กฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ. 2548” ซึ่งมีลักษณะต่างกับงานพิจารณาตรวจสอบตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ วิศวกร พ.ศ. 2542
การออกกฎหมายผู้ตรวจสอบอาคารออกมานั้น อันเนื่องมาจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีอาคารวิบัติเกิดขึ้นมากมาย เป็นต้นว่า โรงแรมโรยัล พลาซ่า จังหวัดนครราชสีมา โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม โรงแรมรอยัล จอมเทียน จังหวัดชลบุรี ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่พัง เครื่องเล่นไฟฟ้าในสวนสนุกไหม้ เป็นต้น จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็น ฉบับที่ 3 ให้มีการตรวจสอบสภาพอาคาร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543
ขอบเขตของการตรวจสอบอาคารนั้น ผู้ตรวจสอบมีหน้าที่ตรวจสอบ สังเกต ทำรายงาน วิเคราะห์ ความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ระบบและอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ของอาคาร และระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย เพื่อลดความเสี่ยงหรือเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้สอยอาคาร ในฐานะผู้ตรวจสอบวิชาชีพที่มีความรู้ ซึ่งได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดตามหลักวิชาชีพ และตามมาตรฐานการตรวจสอบสภาพอาคารและโรงงานอุตสาหกรรมในด้านความปลอดภัยของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ณ สถานที่ วัน และเวลาที่ทำการตรวจสอบตามที่ระบุในรายงานเท่านั้น
0 comments:
Post a Comment